วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 3



เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
มหาเสวกเอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (1 มกราคม พ.ศ. 2419 - 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486) นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) ผู้วางรากฐานการศึกษาภาคบังคับพื้นฐานและการอาชีวศึกษา ผู้ร่วมดำริให้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรก ผู้นำกีฬาฟุตบอลมาเผยแพร่ในประเทศไทย นักประพันธ์ (ใช้นามปากกา "ครูเทพ") ผู้ประพันธ์เพลงกราวกีฬา รวมทั้งเพลงชาติฉบับก่อนปัจจุบัน

ปฐมวัยและการศึกษา
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเกิดที่บ้านหลังศาลเจ้าหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2419 ตรงกับวันจันทร์ เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ ปีชวดเป็นบุตรคนที่ 18 จากบุตร-ธิดา 32 คนของพระยาไชยสุรินทร์ (หม่อมหลวงเจียม เทพหัสดิน) และท่านมารดาอยู่ สืบสกุลจากพระยาราชภักดี (หม่อมราชวงศ์ช้าง เทพหัสดิน) ผู้เป็นบุตรหม่อมเจ้าฉิมในพระสัมพันธวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ โอรสองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอองค์น้อยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ 1

เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ท่านบิดาก็ถึงแก่อนิจกรรม ชีวิตของท่านจึงผกผันจากการเป็นครอบครัวคนชั้นสูง จากการเป็นบุตรขุนนางชั้นผู้ใหญ่ (พระยาไชยสุรินทร์ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคลังข้างที่ในต้นรัชกาลที่ 5) ต้องมาช่วยมารดาทำสวน ค้าขายและรับจ้างเย็บรังดุมตั้งแต่ยังเด็ก ความยากลำบากทำให้ท่านมีความอดทนไม่ท้อถอยและมีอุปนิสัยอ่อนโยน มัธยัสถ์ ซึ่งเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้ท่านมีความเจริญรุ่งเรืองในการการศึกษาและการทำงาน

การศึกษา
เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข พระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนสุนันทาลัย แล้วเข้าศึกษาต่อ ณ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ระหว่างปี พ.ศ. 2435 - 2437 ได้รับประกาศนียบัตรครู และสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูชุดแรกและทำหน้าที่สอนประมาณ 2 ปี

พ.ศ. 2431 เมื่ออายุ 12 ปี เข้าเรียนประโยคหนึ่งที่โรงเรียนบพิตรพิมุข มีพระมหาหนอหรือขุนอนุกิจวิธูร (น้อย จุลลิธูร) เป็นครูคนแรก
พ.ศ. 2432 จบประโยคสอง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเมื่ออายุ 12 ปี
พ.ศ. 2435 จบประโยคมัธยมศึกษาชั้น 5 ภาษาอังกฤษหลักสูตรหลวงโรงเรียนตัวอย่างสุนันทาลัยเข้าแล้วศึกษาในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ตั้ง โดยเป็นนักเรียนรุ่นแรกเพียง 3 คน สอบประกาศนียบัตรครูรุ่นแรกของกรมศึกษาธิการได้อันดับที่ ๑ เมื่ออายุ 16 ปี แล้วทำหน้าที่เป็นนักเรียนสอนในกรมศึกษาธิการ
พ.ศ. 2437 เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์
พ.ศ. 2439 เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม จึงได้เป็นนักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูต่อที่ประเทศอังกฤษ ณ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road College) ณ เมืองไอส์ลเวิซท์ (Isleworth) ทางใต้ของกรุงลอนดอน ภายใต้การดูแลของเซอร์ โรเบิร์ต มอแรน จบแล้วได้เดินทางไปดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศอินเดียและพม่าเป็นเวลา 3 เดือน
ชีวิตการทำงานและผลงาน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีในวัยทำงานพ.ศ. 2441 จบการศึกษาและการดูงานกลับมาอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา 1 พรรษา โดยมีโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2442 กลับเข้ารับราชการกระทรวงธรรมการเมื่อวันที่ 9 มกราคม โดยเป็นครูสอนวิชาครูและคำนวณวิธีในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ก่อนเป็นพนักงานแต่งแบบเรียนประจำศาลาว่าการกรมศึกษาธิการ
พ.ศ. 2443 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงไพศาลศิลปศาสตร์" รับหน้าที่เป็นเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองตรวจกรมศึกษาธิการและทำหน้าที่สอนในขณะเดียวกัน
พ.ศ. 2444 จัดให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนประเภทอายุไม่เกิน ๒๐ ปีเป็นครั้งแรกที่สนามหลวง โรงเรียนชนะเลิศจะได้รับโล่ไว้ครอบครองเป็นเวลาหนึ่งปี และการจารึกชื่อบนโล่เป็นเกียรติประวัติ เรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ"
พ.ศ. 2445 เดินทางไปดูงานการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้ร่วมเดินทางในครั้งนั้นคือ ขุนอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน) และพระชำนิบรรณาคม (อ่อน สาริบุตร) โดยใช้เวลาดูงาน 72 วัน และในโอกาสนี้ ได้คอยเฝ้ารับเสด็จนิวัติประเทศสยามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร (พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษแล้ว
พ.ศ. 2452 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไพศาลศิลปศาสตร์
พ.ศ. 2453 ร. 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม (ร.ศ. ๑๒๙) เพื่อรับกระแสพระราชดำริเรื่องการวางแนวทางการจัดการศึกษาของชาติโดยมีพระราชดำริว่า
ความเจริญแห่งประเทศบ้านเมืองในสมัยต่อไปนี้ที่จะเป็น ปึกแผ่นแน่นหนาได้แท้จริง ก็ด้วยอาศรัยศิลปวิทยาเป็นที่ตั้งหรือเปนรากเหง้าเค้ามูลจึงมีพระราชประสงค์จะทรงทำนุบำรุงการศึกษาของชาติบ้านเมืองให้รุ่งเรืองทันเขาอื่น

การจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแล้วเสร็จเปิดสอนเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม
พ.ศ. 2454 รั้งตำแหน่งปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการและเป็น พระยาธรรมศักดิ์มนตรี
พ.ศ. 2457 รั้งตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม อีกตำแหน่งหนึ่ง
เขียนบทความแสดงความคิดเห็นใน "หนังสือพิมพ์ล้อมรั้ว พ.ศ. 2457" เสนอให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยใช้ที่ดินระหว่างสนามม้ากับถนนพญาไทและถนนพญาไทถึงคลองสวนหลวง ส่วนหนึ่งของบทความ

"มหาวิทยาลัยเป็นอาภรณ์สำหรับมหานครที่รุ่งเรืองแล้ว มหานครใดมีมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเสียงสมจะอวดได้ ก็ย่อมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของมหานครนั้น ก็ย่อมได้ชื่อเสียงปรากฏความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลไปในทิศทั้งปวงด้วย"

พ.ศ. 2459 ได้เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้รับพระราชทานยศเป็น จางวางโทและ จางวางเอกในปีเดียวกัน
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีพระราชหัตถ์เลขาพระราชทานเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า

"ถึงพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับหนังสือลงวันที่ ๒๑ เดือนนี้ หาฤๅเรื่องจะรวมโรงเรียนข้าราชการพลเรือนกับโรงเรียนแพทยาลัย ขึ้นเปนมหาวิทยาลัย และบรรจุตำแหน่งน่าที่ทางกระทรวงธรรมการนั้นทราบแล้ว ตามความเห็นที่ชี้แจงมานั้น เห็นชอบด้วยแล้วให้จัดการไปตามนี้

ภาพล้อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ฝีพระหัตถ์ รัชกาลที่ 6พ.ศ. 2460 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนจาก "พระยาธรรมศักดิ์มนตรีสรรพศึกษาวิธียุโรปการ" ขึ้นเป็น "เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี" วันที่ ๓๑ ธันวาคม เมื่ออายุได้เพียง 41 ปี
พ.ศ. 2464 รับพระบรมราชโองการทำจดหมายถึงมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ให้มาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ โดยมูลนิธิฯ ส่งนายแพทย์ ริชาร์ด เอม เพียร์ส ประธานกรรมการฝ่ายแพทยศาสตร์ศึกษาเข้ามาดูกิจการของการศึกษาแพทย์ในประเทศสยามและได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงรับเป็นผู้แทนฝ่ายไทย
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรกของประเทศ
พ.ศ. 2468 แต่งเพลงกราวกีฬา
พ.ศ. 2469 ลาออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญมาช่วยสอนในโรงเรียนสตรีจุลนาคซึ่งคุณไฉไล เทพหัสดิน ณ อยุธยา บุตรีลาออกจากครูโรงเรียนราชินีและโรงเรียนวชิราวุธมาจัดตั้งขึ้นที่บ้านหลานหลวง
พ.ศ. 2475 เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกในระบอบประชาธิปไตยระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 1 กันยายน และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 27 ธันวาคม
พ.ศ. 2476 รัฐสภามีมติเลือกกลับไปเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม และขอลาออกเมื่อวันที่ 6 เดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเห็นว่าเหตุการณ์ในระยะนั้นไม่อาจรักษาความเป็นประชาธิปไตยตามครรลองที่ท่านคิดว่าควรเป็นไว้ได้ จึงลาออกมาพักผ่อนอยู่กับบ้านจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
พ.ศ. 2477 ก่อตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ (ดำเนินการในระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2476)

งานด้านการศึกษา
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยเริ่มนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู เริ่มพัฒนาด้านพุทธิศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านการสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว รวมทั้งเน้นด้านปลูกฝังธรรมจรรยาอย่างแท้จริง อบรมสั่งสอนให้คนมีคุณธรรมและจรรยามรรยาท จัดทำแบบสอน-อ่าน-เขียนด้านธรรมจริยาขึ้นใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ นำพลศึกษาและการกีฬาเข้ามาในโรงเรียนเพื่อสร้างลักษณะนิสัยให้เยาวชนรู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักอภัยซึ่งกันและกัน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้จัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วถึงกันโดยท่านเชื่อว่า เมื่อให้มวลชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางแล้ว บุคคลที่มีความสามารถก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศรวมทั้งโรงเรียนประชาบาลเพื่อรองรับการจัดการศึกษาภาคบังคับ มีการเริ่มงานด้านหัตถศึกษา คือ นำเอาวิชาอาชีพต่างๆ เข้ามาสอนในโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทั้งด้านวิชาความรู้เพื่อไปรับราชการ และทางด้านวิชาชีพสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพทั่วไป ผลงานของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี อาจสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1.นำวิธีการจัดการศึกษาของต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชียบางประเทศมาใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาของประเทศไทย
2.เป็นกรรมการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนจนกระทั่งได้รับการสถาปนาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.เป็นกรรมการจัดการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
4.เป็นผู้ตรวจการลูกเสือมณฑลกรุงเทพฯ คนแรก
5.เป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. โรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461
6.เป็นผู้ดำเนินการเพื่อห้ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ประถมศึกษา พ.ศ. 2464
7.ริเริ่มให้มีการฝึกหัดเล่นฟุตบอลในโรงเรียนและให้มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียน
8.ตั้งสามัคยาจารย์สมาคม เป็นผู้บรรยายวิชาครูและวิธีสอนที่สมาคมและที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และเริ่มออกหนังสือ วิทยาจารย์
9.ริเริ่มส่งเสริมวิชาช่างและหัตถกรรมเพื่อส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการช่างสาขาต่างๆ และจัดตั้งโรงเรียนเพาะช่างขึ้นเพื่อรองรับและเพาะขยายศิลปะและการช่าง ซึ่งต่อมาได้แตกออกไปเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายและคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภายหลัง
10.ริเริ่มการศึกษาด้านเกษตรกรรมโดยการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแห่งแรก ขึ้นที่บริเวณหอวังหรือบ้านสวนหลวง สระปทุมเมื่อ พ.ศ. 2460 ได้จัดส่งนักเรียนทุนไปศึกษาเกษตรกรรมต่างประเทศและได้กลับมาเป็น สามเสือเกษตร" เป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ใช้เรียกแทน บุคคลทั้ง ๓ คือหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ ภายหลังท่านเหล่านี้ล้วนมีคุณูปการต่อวงการเกษตร
11.ด้านการค้าได้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนพาณิชยการขึ้นที่วัดมหาพฤฒาราม

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ที่บ้านพักถนนนครสวรรค์ กรุงเทพมหานคร สิริอายุรวม 67 ปี 1 เดือน

                สิ่งที่ประทับใจ    เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์  ริเริ่มที่จะให้มีการศึกษาแก่ผู้อื่น  มีน้ำใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น  และเป็นผู้ที่สร้างงสรรค์วิชาต่างๆที่ให้กับนักเรียน 
  ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 2

ทฤษฎีและหลักการบริหารจัดการศึกษา
1. มีหลักการและทฤษฎีคือทฤษฎีของมาสโลว์
ว่าด้วยการจัดอันดับขั้นของความต้องการของมนุษย์ (Maslow – Hierarchy of needs) เป็นเรื่องแรงจูงใจแบ่งความต้องการของมนุษย์ตั้งแต่ความต้องการด้านกายภาพ ความต้องการด้านความปลอดภัยความต้องการด้านสังคม ความต้องการด้านการเคารพ – นับถือ และประการสุดท้าย คือ การบรรลุศักยภาพของตนเอง (Self actualization) คือมีโอกาสได้พัฒนาตนเองถึงขั้นสูงสุดจากการทำงาน แต่ความต้องการเหล่านี้ ต้องได้รับการตอบสนองตามลำดับขั้น
ทฤษฎี X ทฤษฎี Y ของแมคกรีกอร์ (Douglas MC Gregor Theory X, Theory Y ) เขาได้เสนอแนวคิดการบริหารอยู่บนพื้นฐานของข้อสมมติฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ต่างกัน
ทฤษฎี X (The Traditional View of Direction and Control) ทฤษฎีนี้เกิดข้อสมติฐานดังนี้
     1. คนไม่อยากทำงาน และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ
     2. คนไม่ทะเยอทะยาน และไม่คิดริเริ่ม ชอบให้การสั่ง
     3. คนเห็นแก่ตนเองมากว่าองค์การ
     4. คนมักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
     5. คนมักโง่ และหลอกง่าย
     ผลการมองธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้ การบริหารจัดการจึงเน้นการใช้เงิน วัตถุ เป็นเครื่องล่อใจ เน้นการควบคุม การสั่งการ เป็นต้น
ทฤษฎี Y (The integration of Individual and Organization Goal) ทฤษฎีข้อนี้เกิดจากข้อสมติฐานดังนี้
     1. คนจะให้ความร่วมมือ สนับสนุน รับผิดชอบ ขยัน
     2. คนไม่เกียจคร้านและไว้วางใจได้
     3. คนมีความคิดริเริ่มทำงานถ้าได้รับการจูงใจอย่างถูกต้อง
     4. คนมักจะพัฒนาวิธีการทำงาน และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
     ผู้บังคับบัญชาจะไม่ควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเข้มงวด แต่จะส่งเสริมให้รู้จักควบคุมตนเองหรือของกลุ่มมากขึ้น ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน      2.หลักการนำไปใช้แนวปฏิบัติ
     1. เน้นการเรียนการสอนตามสภาพจริง
     2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระสารมารถสรุปและสร้างความรู้ใหม่ๆได้จากข้อมูลได้
     3. นักเรียนเป็นผู้ปฏิบัติ ครูคือผู้อำนวยความสะดวก
     4. เน้นการปฏิบัติควบคู่กับหลักการและทฤษฎีมีกรอบแนวคิด หลักการ สู่การปฏิบัติ
     5. เน้นวิธีสอน การเรียนรู้ ให้หลากหลาย
     6. กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าเนื้อหา
     7. ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้กระบวนการคิดมากกว่าการหาคำตอบที่ตายตัวเพียงคำตอบเดียว
     8. ใช้กระบวนการกลุ่ม ในการเรียนรู้ ร่วมกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ดังนั้น ผู้เรียนสำคัญที่สุด จัดการเรียนรู้ให้หลากหลายวิธี ตามศักยภาพของผู้เรียน ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงมีการพัฒนาสติปัญญา อารมณ์ สังคม จิตใจ คุณธรรม จริยธรรม อยู่ในโลกของความเป็นจริง เป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุขในสังคม
                                                                                                 เอกสารอ้างอิง

กิติมา ปรีดีดิลก. ทฤษฎีบริหารองค์การ. กรุงเทพมหานคร : ธนะการพิมพ์, 2529.
ธีรวุฒิ ประทุมนพรัตน์. ทฤษฎีการบริหารและการจัดองค์การ. สงขลา : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2531.
วิจิตร ศรีสอ้าน และคณะ. หลักและระบบบริหารการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2523.

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่1

การจัดการชั้นเรียน  คือ  การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพในห้องเรียน  การจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียน  การสร้างวินัยในชั้นเรียน  ตลอดจนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู  และการพัฒนาทักษะการสอนของครูให้สามารถกระตุ้นพร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจในการเรียน  เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
การบริหารการศึกษา   หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่บุคคลหลายคนร่วมกันดำเนินการ เพื่อพัฒนาสมาชิกของสังคมในทุกๆ ด้าน นับแต่ บุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถ เจตคติ พฤติกรรม คุณธรรม เพื่อให้มีค่านิยมตรงกันกับความต้องการของสังคม โดยกระบวนการต่างๆ ที่อาศัยควบคุมสิ่งแวดล้อมให้มีผลต่อบุคคล และอาศัยทรัพยากร ตลอดจนเทคนิคต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้บุคคลพัฒนาไปตรงตามเป้าหมายของสังคมที่ตนดำเนินชีวิตอยู่